เปิดมาตรการ เยียวยา 10 จว.ล็อกดาวน์ เพิ่มทุกสิทธิ

เผย รัฐบาล เปิดมาตรการ เยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการ เพิ่มเติม โดยเพิ่มทุกสิทธิ ม.33-ม.39-ม.40 ขณะเพิ่มประเภทกิจการเป็น 9 สาขา ขยายพื้นที่คลุม 10 จังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม เป็นระยะเวลา 1 เดือน

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดฉบับที่ 27 เพื่อลดผลกระทบในระยะสั้น สำหรับกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการทั้งในและนอกระบบประกันสังคม โดยเป็นการทดแทนมาตรการช่วยเหลือตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ 1 เดือน รายละเอียดดังนี้

1. ขยายพื้นที่ จากเดิม 6 จังหวัด กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เพิ่มเติม 4 จังหวัด นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงชลา โดยเป็น 10 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

2 เพิ่มประเภทกิจการรวม 9 สาขา จากเดิม 4 หมวดกิจการ ได้แก่

(1) ก่อสร้าง (2) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร (3) ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ (4) กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด เพิ่ม 5 หมวดกิจกรรม ได้แก่ (5) ขายส่งและการขายปลีก ซ่อมยานยนต์ (6) ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า (7) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน (8) กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และ (9) ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร

3. รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33

– นายจ้างและผู้ประกอบการ รัฐบาลยังคงจ่ายให้นายจ้างตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อหัว ต่อสถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คน

– ลูกจ้าง จ่ายเพิ่มเป็น 2,500 บาทต่อคน จากที่ลูกจ้างจะได้รับตามมาตรการช่วยเหลือเดิมเพียง 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเมื่อรวมกับจ่ายชดเชยเยียวยาร้อยละ 50 ของรายได้ให้ลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน7,500 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ทำให้ผู้ประกันตน ม.33 สัญชาติไทย จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เกิน 10,000 บาทต่อคน

เพิ่มสิทธิให้ผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ที่ประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน สำหรับผู้ที่อยู่นอกระบบ ม.33 อาชีพอิสระ ขอให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน

นอกระบบประกันสังคม

กลุ่มผู้ประกอบการ นายจ้าง กรณีมีลูกจ้าง ให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.33) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อที่นายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อหัว ต่อสถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คน ขณะเดียวกันลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาทต่อคน กรณีที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ภายในเดือน ก.ค. จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน ขยายมาตราการช่วยเหลือเดิม ให้เฉพาะผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหาร เครื่องดื่ม ในโครงการคนละครึ่ง ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม ได้รับการช่วยเหลือ 3,000 บาท เท่านั้น

สำหรับผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะ

– ขยายให้ความช่วยเหลือจากเดิมเฉพาะหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม เป็น 5 กลุ่ม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้าน OTOP ร้านค้าทั่วไป ร้านค่าบริการและกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่) กรณีที่มีลูกจ้าง ขอให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อคน ต่อสถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คน และลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาทต่อคน กรณีที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อจะได้รับเงินในอัตรา 5,000 บาทต่อคน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงกรอบวงเงินสำหรับมาตรการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการว่า จำนวน 30,000 ล้านบาท สำหรับมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและลูกหนี้สถาบันการเงินนั้น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย จะหารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อดำเนินมาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินด้วย ซึ่งหลังจากนี้ ครม. ยังมีจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือในระยะต่อไปโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศต่อไปด้วย

Cr. www.thairath.co.th

X