…………………………………………………………………………………………………….
3 บทความนับจากนี้ ประกอบด้วย
…
PART 1: เรียนรู้
PART 2: แยกแยะ
PART 3: ตกผลึก
…
…………………………………………………………………
การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI : Value investment) คือการเดินทางอันยาวนาน ระหว่างทางอาจพบเจอกับอุปสรรคมากมาย รุ่นพี่นักลงทุนผู้หนึ่งเคยกล่าวว่า “สำหรับคนที่บริหารจิตใจตนเองไม่เป็นนั้น การได้มารู้จักตลาดหุ้น อาจเป็นเรื่องโชคร้ายที่สุดในชีวิตของเขา” : ไม้ฟืน : พะเนียง พงษธา
……….
PART 1: เรียนรู้
………
การเดินทาง
…
การลงทุนเปรียบเสมือนการเดินทาง นักเดินทางสามารถเลือกสรรวิธีการเดินทางได้หลากหลายแบบตามจริตของแต่ละปัจเจกบุคคล เฉกเช่นเดียวกัน หนทางก้าวเดินไปสู่ความมั่งคั่งล้วนหลากหลาย เราจะเลือกแบบใดก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งความชอบส่วนตัว ความสามารถ และองค์ความรู้ บางแนวทางนั้นมีผู้ที่ประสบความสำเร็จมากมาย หากแต่เพียงไม่เหมาะกับตัวเรา เมื่อตัดสินใจอย่างแน่วแน่ในแนวทางและหลักการ หมั่นศึกษาหาความรู้ ฝึกฝนจนชำนาญ เกิดการตกตะกอนของความรู้ ผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นแนวทางใดก็ตามนั้นสามารถนำทางไปสู่ความสำเร็จด้านการลงทุนในที่สุด
…………………………………
อดทน
…
นักลงทุนที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้ ความเข้าใจ และความอดทน บางคนเวลาลงทุนชอบใช้ ‘ข้อมูลสำเร็จรูป’ ประเภทที่ว่าบอกชื่อหุ้น บอกแนวรับ แนวต้าน มาเสร็จสรรพ อาจไม่เคยรู้เลยว่าหุ้นที่เข้าซื้อไปนั้นประกอบธุรกิจอะไร ทำมาหากินอย่างไร มองกระบวนการลงทุนเป็นเพียงสัญลักษณ์และตัวเลขวิ่งขึ้นๆลงๆ นักลงทุนประเภทนี้คงยากที่จะพบเจอกับความสำเร็จ อยู่ในตลาดหุ้นมองเห็นแต่เพียงความโลภ จงอย่าลืมว่า “ความอดทนเปรียบเสมือนตัวคูณ”
…………………………………
ความแตกต่าง
…
ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว ล้วนสามารถสร้างความมั่งคั่งได้เสมอ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การคัดเลือกหุ้นเพื่อลงทุน คุณจำเป็นต้องใช้ความรู้ในการวิเคราะห์บริษัท มีความเข้าใจในกิจการและอุตสาหกรรมพอสมควร ไม่ใช่การนึกคิดวาดฝันไปเอง แน่นอนว่าหากเราใส่ความทุ่มเทพยายามไปเท่าไหร่ ขนาดของกำไรที่พอจะคาดหวังได้ก็คงไม่แตกต่างกัน
…………………………………
ถึงนักลงทุนพอร์ตเล็ก
…
ณ ตลาดหุ้นไทย ผมเชื่อว่ายังมีบริษัทที่ซื้อขายกันในราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานอยู่ สำหรับนักลงทุนที่พอร์ตยังเล็ก เงินยังน้อย ก็อย่าเพิ่งถอดใจไปเสียว่าโอกาสทางการลงทุนดีๆคงหมดไปแล้ว เล่นหุ้นเอาสนุกก็พอ คุณควรใส่ใจในรายละเอียดเพื่อค้นหาโอกาสที่คนอื่นมองไม่เห็น ผมเชื่อเสมอว่าในโลกแห่งการลงทุน ถ้าเราเริ่มต้นด้วยความยาก เมื่อเวลาผ่านไปจนเกิดเป็นความชำนาญแล้ว กระบวนการลงทุนก็จะมุ่งหน้าไปสู่ความเรียบง่าย ลดความซับซ้อนลงไปมาก หากเราเริ่มต้นชีวิตนักลงทุนด้วยการมองหาความง่าย ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ ไม่มีวินัย ไม่แสวงหาความรู้ ความสำเร็จคงเกิดขึ้นได้ยาก
…
ผู้ที่อยู่ในจุดเริ่มต้นของชีวิตนักลงทุนควรถามตนเองให้ดีก่อนว่า “เราจะเอาอะไรไปสู้กับคนอื่นเขา” เมื่อในตลาดหุ้นนั้นเต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ ผมเชื่อว่าสำหรับนักลงทุนรายย่อย คงมีเพียงความรู้ที่เข้มข้น การรู้จักอดทนและรอคอย ที่จะช่วยให้ฝันเรื่องอิสรภาพทางการเงินกลายเป็นความจริง
…………………………………
เหนือกว่าวอลล์สตรีท
…
ในกระบวนการลงทุนนั้นความรู้เรื่องบัญชีและธุรกิจเป็นสิ่งที่ร่ำเรียนกันได้ไม่ยากเย็นนัก แต่ในที่สุดนักลงทุนซึ่งประสบความสำเร็จจะเฉือนคมกันที่รายละเอียด และความใส่ใจต่อหุ้นที่พวกเขาถือครองอยู่ ดังที่ ‘จิม โรเจอร์ส (Jim Rogers)’ เคยกล่าวไว้ว่า “หากคุณอ่านรายงานประจำปีของบริษัท คุณก็จะเหนือกว่าคนอีก 98% ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท” ความเชื่อประมาณที่ว่านักลงทุนระยะยาวมักซื้อหุ้นที่มี P/E ต่ำ และจ่ายเงินปันผลสูงนั้นมีมาช้านาน การที่นักลงทุนคัดเลือกหุ้นแบบปักธงในใจมาแล้วนั้นอาจทำให้พลาดโอกาสในการลงทุนที่ดีได้
………………………………….
ความได้เปรียบ
…
หากคุณเป็นนักลงทุนที่มีความชำนาญพิเศษในอุตสาหกรรมใดๆอันสืบเนื่องมาจากการศึกษา หน้าที่การงาน หรือชีวิตประจำวัน ก็ไม่ควรปล่อยองค์ความรู้ที่มีให้สูญเปล่า ผมเคยเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทวัสดุก่อสร้างแห่งหนึ่ง และมีโอกาสได้พบกับนักลงทุนที่มีอาชีพหลักเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เขาสนใจเข้าลงทุนในบริษัทนี้เพราะเข้าใจสภาวะตลาดวัสดุก่อสร้างเป็นอย่างดี เรียกได้ว่า ‘มีความได้เปรียบในการแข่งขันทางการลงทุน’ แต่หากเราเป็นนักลงทุนธรรมดาทั่วไป ขอให้นึกถึงคำแนะนำของ ‘แจ๊ก เวลช์ (Jack Welch)’ อดีตประธานบริษัท General Electric ที่เคยกล่าวไว้ว่า “หากไม่มีความสามารถในการแข่งขัน จงอย่าแข่งขัน” กลับมาลงทุนในกิจการที่คุ้นเคยกันดีกว่าครับ
………………………………….
เล่นหุ้นตามเซียน
…
มุมมองหรือทัศนคติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งของเซียนหรือผู้เชี่ยวชาญอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ไม่มีอะไรแน่นอน การฟังความคิดเห็นจากผู้รู้นั้นเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ แต่การฟังแล้วปักใจเชื่อว่ามันจะต้องเป็นเช่นนั้นแน่นอน อาจทำให้เรามีมุมมองด้านต่างๆคับแคบจนเกินไป เราควรให้น้ำหนักกับสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง (Fact) มากกว่าข้อคิดเห็น (Opinion)
…………………………………..
การเงินสำหรับคนธรรมดา
…
การเริ่มเก็บออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย หากได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และมีอายุยืนยาวนั้นเป็นตัวช่วยชั้นดีต่อการสร้างความมั่งคั่งอย่างไม่ยากเย็นจนเกินไปนัก จุดตัดสำคัญในการลงทุนสำหรับคนทั่วไปคือคุณต้องแยกแยะให้ออกว่าธุรกิจใดเหมาะสมแก่การลงทุนระยะยาว บริษัทซึ่งมีความสามารถในการแข่งขันนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อคัดเลือกมาเป็นอย่างดีแล้วก็ใส่เงินออมลงไปพอสมควร จากนั้นเหลือเพียงแค่รอเวลาให้เครื่องจักรแห่งความมั่งคั่งทำงานต่อไปเรื่อยๆ คนธรรมดาสามารถบรรลุเป้าหมายทางการออมได้ หากพวกเขามุ่งมั่น เอาจริง มีวินัย และไม่ใช้จ่ายเงินจนเกินตัว
………………………………..
ไม่มีอะไรที่แน่นอน
…
นักลงทุนทั่วไปสามารถจำกัดความเสี่ยงในการลงทุนได้ด้วยตนเอง เช่นกระจายการถือครองหุ้นไปในหลายบริษัท หลากหลายอุตสาหกรรม และถือครองเงินสดไว้ในระดับที่เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต จะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล หากมีการกู้ยืมเงินมาลงทุนก็ควรอยู่ในระดับที่ไม่มากเกินไป สามารถบริหารจัดการได้ ‘วอเร็น บัฟเฟตต์ (Warren Buffett)’ ถือครองเงินสดประมาณ 10 – 20% จากสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท ‘Berkshire Hathaway’ อยู่ตลอดเวลา เพราะเขาเชื่อว่าหากมีข้อเสนอทางการลงทุนดีๆผ่านเข้ามาจะได้ไขว่คว้าไว้อย่างทันท่วงที
…
‘โฮเวิร์ด มาร์ค (Howard Marks)’ เคยกล่าวไว้ว่า “เราไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างในอนาคต แต่เราสามารถเตรียมพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ได้” นี่เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างมากสำหรับการดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ที่ไม่มีอะไรแน่นอน
………………………………….
กระจายความเสี่ยง
…
การกระจายความเสี่ยงนั้นหากนักลงทุนนำมาใช้อย่างถูกต้องก็สามารถลดความเสี่ยงและเพิ่มพูนความมั่งคั่งได้ แต่ในทางกลับกันก็อาจสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลได้เช่นกันหากกระทำด้วยความไม่รู้ เช่นการกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ที่เราขาดความเชี่ยวชาญหรือความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ความรู้ในสินทรัพย์นั้นๆแทบไม่มี แบบนี้เรียกว่าการ ‘เดินเข้าหาความเสี่ยง’ คงได้รับบาดแผลกลับมาอย่างแน่นอน
………………………………
เมฆหมอกแห่งการลงทุน
…
ปัญหาหลักของนักลงทุนในปัจจุบันนี้ไม่ใช่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หากแต่เป็นการวิเคราะห์ข่าวสารเพื่อกลั่นกรองและพัฒนาไปสู่กลยุทธ์การลงทุน หากเราหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ มองทุกสิ่งให้รอบด้านและเป็นกลาง ก็จะสามารถมองผ่านเมฆหมอกและค้นพบโอกาสดีๆทางการลงทุนได้ในท้ายที่สุด
……………………………….
คิดอย่างเป็นอิสระ
…
นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่นั้นมีความเชี่ยวชาญด้านบัญชีและงบการเงินอย่างทะลุปุโปร่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินทุกคนจะประสบความสำเร็จในการลงทุน ยังมีปัจจัยสำคัญอีกมากมายซึ่งนอกเหนือไปจากความรู้ด้านการเงิน ไม่แน่ว่าพื้นฐานทางด้านจิตวิทยานั้นอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จ ‘วอเร็น บัฟเฟตต์’ กล่าวไว้ว่า “คุณไม่มีวันเข้าถึงความสำเร็จในการลงทุนได้ หากคุณยังไม่สามารถคิดได้อย่างเป็นอิสระ” ระบบความคิดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
…
นักลงทุนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ที่เริ่มสนใจในตลาดหุ้น มักเริ่มต้นด้วยการศึกษาด้านการเงินก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อศึกษาด้านการเงินมาพอสมควรแล้วก็ควรศึกษาหาความรู้แขนงอื่นๆเพิ่มเติมด้วย เพื่อเปิดมุมมองให้กว้างและแหลมคมยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากนั้นหากคุณเชื่อว่า “ความคิดที่ดีเกิดขึ้นจากใจที่ดี” ก็น่าจะศึกษาเรื่องการฝึกจิตใจดูบ้าง ผมเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อชีวิตในฐานะนักลงทุนและมนุษย์คนหนึ่งบ้างไม่มากก็น้อยในอนาคต
………………………………………………………………………………..
แล้วพบกันใหม่สำหรับบทความตอนต่อไปใน ‘PART 2: แยกแยะ’ และ ‘PART 3: ตกผลึก’ เร็วๆนี้
…
ป.ล. หนังสือเล่มดังกล่าวนี้จะถูกจัดจำหน่ายผ่านช่องทาง ‘สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) : THAI VI’ หากแต่ยังไม่มีกำหนดการอันแน่นอน รอประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งนะครับ ไม่นานเกินรอ ขอขอบคุณ THAI VI และคุณชาย มโนภาส ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
…
ขอให้มีความสุขกับการลงทุน ในทุกๆวันนะครับ