KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 ส่งสัญญาณเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอต่อเนื่อง แม้จะมีการเติบโตได้ 7.5% เทียบกับปีก่อน
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดในปัจจุบัน เรียกได้ว่า ‘รุนแรงกว่า กว้างขวางกว่า และยาวนานกว่า’ ปีก่อน ยิ่งไปกว่านั้น การระบาดของโควิดยังมีแนวโน้มเริ่มลุกลามไปถึงภาคการผลิตและภาคการส่งออก และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่มีเศรษฐกิจหดตัวลงต่อเนื่องกันถึง 2 ปี
ผลกระทบจากโควิดที่เริ่มต้นการหยุดชะงักของรายได้และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจลุกลามไปสู่ปัญหาอื่นๆ 1. การจ้างงาน 2. การลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นซึ่งเพิ่มผลกระทบให้กระจายเป็นวงกว้างกับธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ และ 3. ปัญหาความสามารถในการชำระหนี้และค่าเช่าของบริษัทจากกระแสเงินสดที่ไม่เพียงพอ
ประเด็นที่น่ากังวลคือ ผลกระทบต่อความอยู่รอดของธุรกิจและครัวเรือน ในกรณีเลวร้าย ธุรกิจหลายแห่งอาจต้องปิดตัวลงถาวรภายใต้การระบาดที่ยืดเยื้อ
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่าในภาวะวิกฤตปัจจุบัน ภาครัฐจำเป็นต้องทำนโยบายเยียวยา กระตุ้น ฟื้นฟู และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนให้เพียงพอและสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ทางออกที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตในครั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ที่สามารถป้องกันการป่วยรุนแรง ลดความสูญเสีย และลดแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข หากการจัดหาวัคซีนยังทำได้อย่างล่าช้าและไม่เพียงพอ เศรษฐกิจจะถูกกระทบต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และเพิ่มต้นทุนต่อมาตรการภาครัฐที่ต้องออกมาต่อเนื่องและยาวนานขึ้นโดยไม่จำเป็น เนื่องจากต้นทุนในการเยียวยาสูงกว่าต้นทุนของวัคซีนมหาศาล
อ่าน บทความเต็มได้ที่ KKP Research ชี้ทางรอดเศรษฐกิจไทย พระเอกคือ ‘วัคซีน’ แต่นโยบายการเงิน-การคลังต้องโถมหนักกว่านี้ พร้อมแนะทำมาตรการ QE – THE STANDARD